January 28, 2015,
Posted in News |
รายการ “สน.บานเย็น” ได้เชิญ @Khajochi หนึ่งในทีมงาน MacThai เข้าไปพูดคุยเรื่องที่มีข่าวว่า iPhone ของนักศึกษาคนหนึ่งถูกหลอกให้กรอกแบบสอบถาม แล้วหลังจากนั้นก็ถูกขโมย iPhone ไป โดยที่โจรสามารถปลดล็อคเครื่องไปใช้งานได้
ซึ่งจากการสัมภาษณ์ ก็น่าเสียดายที่มีหลายประเด็นได้ถูกนำออกจากรายการ เนื่องจากมีความยาวและบางประเด็นก็ล่อแหลมเกินไป ทางทีมงานจังขอใช้พื้นที่ในส่วนของเว็บเพื่ออธิบายเพิ่มเติม
ระบบรักษาความปลอดภัยใน iPhone
ก่อนอื่นต้องเข้าใจระบบรักษาความปลอดภัยใน iPhone กันก่อน เดิมทีเราสามารถป้องกันการเข้ามาใช้งานเครื่องได้โดยตั้งรหัสผ่านที่เรียก ว่า “Passcode” ซึ่งเป็นตัวเลข 4 หลัก (สามารถเพิ่มเป็นตัวอักษรได้)
มือถือที่ไม่ตั้ง Passcode ก็เหมือนบ้านที่เปิดประตูเอาไว้ ใครหยิบเครื่องไปก็สามารถใช้ได้เลย การตั้งรหัสผ่านก็เหมือนล็อคประตูบ้านไว้ 1 ชั้น ใครจะเข้าต้องมีกุญแจก่อน
ต่อมาแอปเปิลได้เปิดตัวระบบ iOS 7 ซึ่งมีฟีเจอร์ Activation Lock คือการล็อคเครื่องไม่ให้ลบข้อมูล, Restore, Reset ได้หากใส่รหัสผ่าน Apple ID ไม่ถูกต้อง ซึ่งระบบนี้จะมีการตรวจสอบที่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์แอปเปิลอีกที ทำให้มีความปลอดภัยสูงมากขึ้น
โจรสามารถปลดล็อค iPhone ได้อย่างไร ?
แม้ระบบจะถูกออกแบบมาดี แต่จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เราก็ยังได้ยินว่ามีร้านมือถือที่ “รับปลดล็อค iPhone” หรือหลายเว็บที่รับให้บริการลักษณะนี้อยู่ ซึ่งก็ชวนให้สงสัยว่า แล้วพวกเขาทำได้อย่างไรกัน ?
“ถ้าถามว่าโจรที่ขโมย iPhone เราไป สามารถปลดล็อคเครื่องเราได้ไหม ? บอกเลยว่าทำได้ครับ แต่ไม่ใช่ว่าทำได้ง่ายๆ” @Khajochi เผยในรายการ
โดยวิธีการที่โจรสามารถปลดล็อค iPhone เราได้นั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น
- เดารหัสผ่าน : วิธีนี้มักใช้กับ Passcode ที่ถูกตั้งไว้ง่ายๆ โดยรหัสผ่านยอดฮิตอย่าง 1234, 5555 มักปลดล็อคเครื่องได้เสมอๆ
- หลอกล่อขอรหัสผ่านจากผู้ใช้ : หลายกรณีที่มีการขโมย iPhone ไป แล้วมีการติดต่อกลับมาถึงเจ้าของเครื่อง เพื่อขอรหัสผ่าน ซึ่งบางครั้งโจรก็ปลอมตัวเป็นพนักงานแอปเปิล หรือค่ายมือถือ เพื่อหลอกเอารหัสผ่านไปนั่นเอง
- ทำหน้าเว็บหลอก : โจรบางกลุ่มทำงานกันเป็นทีม โดยมีการสร้างหน้าเว็บหลอกๆ ซึ่งดูเหมือนเป็นเว็บของแอปเปิล แล้วส่งให้ผู้ที่ถูกขโมยเครื่องไป ให้ไปกรอก Apple ID และ Password ก็ทำให้โจรเหล่านี้ได้รหัสผ่านไปเช่นกัน
แต่ก็ยังมีอีกกรณีหนึ่ง คือการแฮ็คเครื่องเพื่อปลดล็อค iPhone โดยตรง ซึ่งมักจะเป็นวิธีที่ร้านขายมือถือใช้กัน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีแก้ Host บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้การใส่รหัสผ่านแทนที่จะส่งไปที่เซิร์ฟเวอร์ของแอปเปิล แต่กลับไปที่เซิร์ฟเวอร์ของแฮกเกอร์แทน ซึ่งวิธีนี้แม้จะกรอกรหัสผ่านผิดก็ ยังสามารถปลดล็อคเครื่องได้
อย่างไรก็ดี แอปเปิลเองก็พยายามป้องกันปัญหานี้ด้วยการตามไปปิดเซิร์ฟเวอร์เถื่อนทั้ง หลาย รวมถึงเพิ่มระดับความปลอดภัยด้วยการอัพเดท iOS เวอร์ชันใหม่ๆ อยู่ตลอด ซึ่งการอัพเดท Firmware เป็นเวอร์ชันล่าสุดเสมอ ก็สามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้
สิ่งแรกที่ควรทำหลัง iPhone หายคือเข้า Find My iPhone -> Lost Modeหลังจากนั้นคือเปลี่ยนรหัสผ่าน Apple ID, Email, Facebook, Line ให้หมด
ถ้าเครื่อง iPhone ถูกขโมยควรทำอย่างไร
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว แนวทางป้องกันตัวเองและเรื่องที่เราควรทำหลัง iPhone หายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราก็มีข้อแนะนำดังนี้
แนวทางป้องกันก่อน iPhone หาย
- ตั้งรหัสผ่าน Passcode ในเครื่อง และเลือกใช้รหัสที่ยากต่อการเดา
- เข้าไปเปิดระบบ Activation Lock โดยเข้าไปที่ Setting -> iCloud -> ใส่ข้อมูล Apple ID ของเราเข้าไป -> จากนั้นเปิดฟีเจอร์ Find My iPhone
- หมั่น Update เป็น Firmware เวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอๆ ช่วยป้องกันการโดนแฮ็คจากช่องโหว่ในเวอร์ชันก่อนหน้าได้
- Back Up ข้อมูลอยู่เสมอๆ ทั้งทาง iCloud หรือทาง iTunes (อ่านเพิ่ม : วิธีและขั้นตอนการ Back Up ข้อมูลใน iPhone)
เรื่องควรทำหลัง iPhone หาย
- เมื่อ iPhone หาย ควรจะใจเย็นๆ ค่อยๆ คิดลำดับการแก้ปัญหา
- ให้เข้าไปที่ iCloud.com จากนั้นกรอก Apple ID และรหัสผ่าน เพื่อเข้าไปแอพ Find My iPhone
- ภายในแอพ Find My iPhone จะแสดงตำแหน่งของเครื่องที่หาย ให้เลือกไปที่ Lost Mode ซึ่งเมื่อเครื่องกลับมาออนไลน์ก็จะแสดงตำแหน่งล่าสุดได้
- หากข้อมูลในเครื่องมีความสำคัญมาก ควรเลือก “Erase iPhone” เพื่อลบข้อมูลในเครื่องเลย แต่การลบจะทำให้หาเครื่องจากแอพ Find My iPhone ไม่เจออีก
- เข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านในทุกแอพที่ใช้ โดยเฉพาะ Email, Facebook, LINE, Twitter, Instagram และ Social Network ต่างๆ
- นำเลข IMEI ของเครื่อง (จากหลังกล่อง หรือจากใบเสร็จที่ซื้อ) เข้าแจ้งตำรวจ จากนั้นนำหลักฐานการแจ้งความไปส่งให้ค่ายมือถือ ซึ่งทางค่ายจะใส่เลข IMEI นี้ว่าเป็นเครื่องที่สูญหาย หากมีโจรนำเครื่องมาซ่อมหรือใช้บริการ ก็จะสามารถช่วยตามได้ระดับหนึ่ง
Comments
Powered by Facebook Comments