วันลอยกระทง ประวัติเทศกาลลอยกระทง

วันลอยกระทง ประวัติเทศกาลลอยกระทง

วันลอยกระทง ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ส่วนปฏิทินจันทรคติล้านนา วันลอยกระทงมักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ส่วนปฏิทินสุริยคติในบางปี เทศกาลลอยกระทงก็มักจะตรงกับเดือนตุลาคม อย่างเช่นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ที่มีวันลอยกระทงตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมและจะวนกลับมาตรงในวันเดียวกันนี้อีกครั้งเมื่อถึงปี พ.ศ. 2563

เทศกาลลอยกระทง เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา โดยจากการค้นพบในบางหลักฐานพบว่า การลอยกระทงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที แต่อีกหลักฐานหนึ่งก็กล่าวว่าการลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์ หรือพระมหาสาวก สำหรับในประเทศไทย ได้จัดให้มีประเพณีลอยกระทงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์และความน่าสนใจที่เฉพาะตัวแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ในบางประเทศก็มีการจัดเทศกาลลอยกระทงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ประเทศลาว มักจะลอยกระทงกันในวันออกษา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ในงานไหลเรือไฟของลาว
  • ประเทศกัมพูชา จะมีการลอยกระทงด้วยกันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกจะลอยกระทงของหลวงกลางเดือน 11 ส่วนประชาชนทั่วไปก็จะทำกระทงเล็กและบรรจุอาหารไปด้วย ครั้งที่สองจะเป็นช่วงกลางเดือน 12 หลวงจะทำกระทงใหญ่ ส่วนประชาชนจะไม่ได้ทำกระทงเหมือนในครั้งแรก แต่จะมีการเตรียมอาหารเพื่อบรรจุลงไปในกระทงใหญ่ด้วย โดยเชื่อกันว่าจะเป็นการส่งส่วนบุญไปให้เปรต มีเทศกาลน้ำที่จัดให้มีการแข่งเรือยาว การแสดงพลุ ดอกไม้ไฟ ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ จนถึงแรม 1 ค่ำ ในเดือนพฤศจิกายน
  • ประเทศเมียนมาร์ เมื่อถึงวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำกระทงที่ตกแต่งเป็นรูปคล้ายกับดอกบัวบาน ปักธูป เทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในน้ำ (หากพื้นที่นั้นติดทะเล ก็จะนิยมลอยกระทงกันริมฝั่งทะเล) โดยเชื่อกันว่าจะเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทงยังเป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาอีกด้วย

เทศกาลลอยกระทง

ประวัติวันลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่มีปรากฏหลักฐานแน่ชัดเจนว่าเริ่มปฏิบัติกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยจากข้อมูลบางส่วนที่ปรากฏได้ระบุไว้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อครั้ง สุโขทัย เป็นราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีประเพณีนี้จะเป็นพิธีของพราหมณ์ที่กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ยึดถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยมีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และมีการลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมทา (แม่น้ำนัมทา เป็นแม่น้ำที่อยู่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัยที่ไหลลงสู่ภาคตะวันตกของอินเดีย แม่น้ำแห่งนี้เป็นตัวแบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้)

จากตำนานที่หาหลักฐานยืนยันมิได้ได้กล่าวเอาไว้ว่า ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เดิมเรียกพิธีจองเปรียง มีการลอยประทีป จากนั้นนางนพมาศนำดอกโคทมซึ่งเป็นดอกบัวบานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป ดังปรากฏให้เห็นในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปอดกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน”

ในปัจจุบันมีหลักฐานว่า ประเพณีลอยกระทง ไม่น่าจะมีความเก่าแก่กว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชการที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการทำกระทงจากดอกบัวมาเป็นต้นกล้วย เนื่องจากว่าดอกบัวเป็นวัตถุดิบที่หายากและมีน้อยเลยใช้ต้นกล้วยมาทำเป็นกระทงทดแทน แต่เมื่อดูๆ แล้วยังขาดความสวยงาม จึงนำใบตองมาพับเป็นกลีบคล้ายดอกบัวเพื่อตกจนเกิดความสวยงามสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีลอยกระทง

งานลอยกระทงตามประเพณีของท้องถิ่น

ภาคเหนือตอนบน มักนิยมทำโคมลอยที่เรียกว่า ลอยโคม หรือ ว่าวฮม หรือ ว่าวควัน ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศคล้ายกับบอลลูน ซึ่งชาวเหนือมักเรียกประเพณีนี้ว่า ยี่เป็ง หมายถึง การทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (เป็นการนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)

  • จังหวัดเชียงใหม่ จะมีประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ ทุกๆ ปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการคา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า
  • จังหวัดตาก จะมีการลอยกระทงขนาดเล็กเรียงรายกันไปเป็นสาย เรียกว่า กระทงสาย
  • จังหวัดสุโขทัย จะมีขบวนแห่โคมชัก โคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง

ภาคอีสาน ในอดีตจะมีการเรียกประเพณีลอยกระทงว่า สิบสองเพ็ง หมายถึง วันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นฐิ่น

  • จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นตัวแทนจัดงานลอยกระทงที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน มีชื่องานว่า สมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป มีความหมายตามภาษาถิ่นว่า การขอขมาพระแม่คงคาในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ความพิเศษของงานจะมีการแสดง แสง สี เสียง ตำนานเมืองร้อยเอ็ด มีการตกแต่งบริเวณเกาะบึงพลาญชัยให้เป็นเกาะสวรรค์ มีขบวนกระทงอาเซียน มีการประกวดกระทงประทีปใหญ่ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการประกวดกระทงอนุรักษ์ธรรมชาติ การประกวดขบวนแห่กระทงประทีป 12 หัวเมืองตามตำนานเมืองร้อยเอ็ด การประกวดรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป การประกวดธิดาสาเกตนครและกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ จังหวัดร้อยเอ็ดยังได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ทรงพระราชทานพระประทีปส่วนพระองค์ร่วมลงลอยในบึงพลาญชัยทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542
  • จังหวัดสกลนคร ในอดีต จะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วยที่มีลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ โดยเรียกชื่องานว่า เทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล

ภาคกลาง จะมีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด

  • กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง จัดขึ้นที่วัดสระเกตุ มีลักษณะเป็นงานวัด มักจะเฉลิมฉลองราว 7 – 10 วันก่อนงานลอยกระทง และงานจะสิ้นสุดลงในช่วงหลังวันลอยกระทง
  • จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานจะมีการแสดงแสง สี เสียงอย่างงดงามตระการตา

ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้นในจังหวัดอื่นๆ ก็จะมีการจัดงานลอยกระทงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ในแต่ละท้องถิ่นก็ยังอาจจะมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกัน และสืบทอดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

วันลอยกระทง

ข้อมูลเพิ่มเติม th.wikipedia.org

ลอยกระทงออนไลน์
ลอยกระทงออนไลน์

กิจกรรมลอยกระทงออนไลน์ คลิก > https://season.sanook.com/loykrathong/

มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ วันลอยกระทง ร่วมแสดงความเห็นได้เลย!